ปลูกผักอินทรีย์แบบมืออาชีพ ธงชนะ พรหมมิ

Last updated: 1 ก.ค. 2562  |  12313 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ปลูกผักอินทรีย์แบบมืออาชีพ ธงชนะ พรหมมิ

ปลูกผักอินทรีย์แบบมืออาชีพ ธงชนะ พรหมมิ ผู้สร้างกองทัพจุลินทรีย์พันธมิตรเพื่อนผัก

“คำว่าเกษตรอินทรีย์คือเกษตรชีวภาพ เป็นสิ่งมีชีวิตมีจุลินทรีย์เป็นสัตว์เซลล์เดียว เป็นองค์ประกอบที่สำคัญ แต่ปุ๋ยเคมีเป็นสารที่ทำลายระบบนิเวศน์ สัตว์ ฉะนั้น มนุษย์ สัตว์ พืช ถูกทำลายด้วยสารเคมีทั้งหมด ถ้าเราเอาอินทรีย์ ซึ่งเป็นสัตว์เซลล์เดียวที่ขยายพันธ์ด้วยการแตกเซลล์ ซึ่งจะไปทำหน้าที่เพื่อไปย่อยอินทรียวัตถุ แต่พอเจอกับสารเคมีเอาเคมีไปใส่มันก็ตายหมด ก็ไปทำตามๆ กันอีก ไม่ได้เกิดการเรียนรู้หรือคิดแตกต่างกันเลย แล้วแบบนี้จะปลูกพืชให้โต หรือประสบความสำเร็จได้อย่างไร”
คุณธงชนะ พรหมมิ


คุณธงชนะ พรหมมิ คนปลูกผักตัวจริงที่ประสบผลสำเร็จปลูกผักต้นยักษ์จนโด่งดัง จากหลักการความเข้าใจในเรื่องปุ๋ยและจุลินทรีย์ จนกลายมาเป็นเจ้าของสิทธิบัตร “น้ำมะพร้าวเทียม” ตัวสร้างกองทัพจุลินทรีย์ ป้องกันโรคพืชและแมลง ลูกหลานเกษตรกรที่ผ่านการอบรมเรื่องสัจจะธรรมชีวิตกับกลุ่มอโศก บอกเล่าถึงวันวานก้าวแรกที่เข้าไปอบรมรู้สึกถึงสิ่งมหัศจรรย์ พบชาวอโศกแต่งกายเหมือนกัน ปฏิบัติธรรมเหมือนกัน อย่างน้อยขั้นต่ำทุกคนถือศีล 5 ไม่กินเนื้อสัตว์ ไม่แตะต้องสุรา และอบายมุข ใช้ชีวิตแบบสมถะ และทำเกษตรแบบกินเอง จากการอบรม 5 วันในคราวนั้นมันซึมซับจนกลายเป็นจุดพลิกชีวิต เหมือนหนังคนละม้วน เมื่อกลับมาถึงบ้านปฏิวัติตัวเองใหม่หมด เสื้อผ้าเผา ทิ้งหันไปแต่งกายแบบชาวอโศก กินมังสวิรัติ เลิกเลี้ยงสัตว์ หันไปปลูกแต่พืชผักอย่างเดียว การเปลี่ยนแปลงในครั้งนั้นค้นพบว่า แนวทางการใช้ชีวิตแบบนี้แหละคือแนวทางตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตามที่พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ท่านสอนอย่างแท้จริง

ธาตุอาหารหลักของพืช N P K มีหน้าที่อย่างไรบ้าง?
N : ไนโตเจน ทำหน้าที่ในการสร้างความเจริญเติบโตให้กับพืช ช่วยให้พืชผลิใบสีเขียวแตกยอดงาม เหมือนคนวัยเด็ก
P : ฟอสฟอรัส ทำหน้าที่สะสมอาหาร ช่วยให้ติดตา ออกดอก ติดผล เหมือนวัยเจริญพันธุ์
K : โพแทสเซียม ทำหน้าที่ให้รสชาติหวานกรอบ
 
การเรียนรู้จักอาหารพืชคุณธงชนะบอกว่ามันคือพื้นฐานของการพึ่งตนเองได้ในอาชีพเกษตรกรรม ทุกวันนี้คนหันไปซื้อพวกกาก หรือมูลสัตว์ มาทำปุ๋ย แต่กลับไม่ได้เรียนรู้เลยว่าวัตถุดิบที่นำมาทำปุ๋ยเลี้ยงพืชแท้จริงแล้วมาจากไหน ที่สำคัญยังเอามูลสัตว์ไปใส่พืชโดยตรงโดยไม่ผ่านกระบวนการหมัก กลับกลายว่ายิ่งซ้ำเติมพืชผัก สร้างโรคและแมลงให้เกิดด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์เสียอีก

“การที่คุณไปปลูกต้นไม้ไม่รู้คุณค่าของ N P K ค่าตัวไหนให้พลังงานกับพืชตัวไหน ถ้าไม่รู้ เอาใส่สัดส่วนที่ไม่สมดุลกันไปใส่ให้พืชกินก็เหมือนใส่น้ำปลามากเกินไป น้ำตาลมากเกินไป น้ำส้มมากเกินไป มันก็กินไม่ได้ พืชเช่นเดียวกัน คุณใส่ขี้เถ้าแกลบเยอะๆ คือ การใส่ P ลงไปขณะที่พืชกำลังต้องการ N พืชก็เหลือง ออกดอก หยุดการเจริญเติบโตเพราะสะสมอาหาร ตราบใดที่ได้ N มันงามแน่นอน พืชต้องการอาหารทุกชนิดแต่ห้วงเวลาแตกต่างกัน”

เทคนิคการทำปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยอินทรีย์มี 2 ประเภท คือ
  1. ปุ๋ยอินทรีย์คือ ปุ๋ยที่ไม่มีการหมัก เอาวัตถุดิบมากองๆ แล้วตีป่นละเอียดนำมาปั้นเม็ด (ชนิดนี้จะไม่มีจุลินทรีย์ มีกลิ่นเหม็น) ข้อเสียคือ มีโอกาสก่อให้เกิดโรคและแมลงได้สูง เพราะไม่มีจุลินทรีย์เป็นตัวย่อยสลายสารอินทรีย์
  2. ปุ๋ยหมักอินทรีย์ เอาวัตถุดิบมาหมักเป็นกอง มีทั้งแบบกลับกอง และไม่กลับกอง (กลิ่นจะไม่เหม็น เพราะกระบวนการหมักได้เกิดจุลินทรีย์ไปกินซากย่อยสลายหมดแล้ว จะมีจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์จำนวนมาก จะไม่เป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดโรคพืช)
การหมักแบบกลับกอง/ไม่กลับกอง มีเหตุผลและความต่างคือ
  • กลับกอง ใช้อินทรียวัตถุที่หยาบ ต้องกลับกองเพื่อคลุกคล้า
  • ไม่กลับกองคือ ใช้วัตถุที่ละเอียดแล้วหมักครั้งเดียวให้เสร็จเรียบร้อย กระบวนการย่อยสลายก็เกิดฮิวมัส แต่ถ้าไปกลับฮิวมัสก็หายไปในธรรมชาติ
การหมักจะมีความร้อนเกิดขึ้น ถ้าร้อนมากเกินไปก็เผาจนไนโตรเจนหายไป เหลือแต่ฟอสฟอรัส หรือถ้าหมักจนมีฝ้าขาวๆ เยอะๆ มีอินทรียวัตถุเยอะ แต่ถ้าปล่อยไว้จนแห้งเป็นฝุ่น ไนโตรเจนก็หายไป เหลือแต่ฟอสฟอรัสและโพแทสเซียม เอาไปปลูกผักก็ติดดอกออกลูกอย่างเดียว ผักจะไม่งามแล้ว

น้ำมะพร้าวเทียม (วิธีการสร้างจุลินทรีย์มีชีวิต)
 
วัสดุ
ถังน้ำสำหรับบรรจุน้ำ 30 ลิตร
น้ำเปล่า 30 ลิตร
รำละเอียด (มีธาตุอาหารสูง โดยเฉพาะ N 6.3%) 1 กิโลกรัม
น้ำตาลรำ (โอวทึ่ง) 1 กิโลกรัม
 
วิธีทำ
1.เอาน้ำใส่ถัง น้ำตาลเทลงไป ใช้มือคนให้น้ำตาลละลาย ที่ใช้มือสัมผัสเพราะถ้าน้ำตาลเป็นก้อนก็ขยี้ให้ละลาย
2.จากนั้นเอารำละเอียดเทลงไป แล้วคนให้เข้ากันเพื่อให้ละลายน้ำให้หมด
 
ข้อสังเกต
เป็นวิธีการสร้างจุลินทรีย์ เรามีจุลินทรีย์ 2 ตัว คือ ชนิดที่ต้องการอากาศและไม่ต้องการอากาศ หลังจากหมัก 6 ชั่วโมงขึ้นไปก็จะเริ่มเกิดฟองด้านด้านบนน้ำทิ้งไว้ 7 วัน พอครบ 7 วัน ด้านบนจะเกิดฟองเต็มปากถัง เราเรียกว่า ฮิวมัส ซึ่งเป็นจุลินทรีย์ที่ชีวิตต้องการอากาศ กินรำเป็นอาหาร เป็นสารอาหารพืช จะเอาไปใช้โดยตรงก็ได้ ฟองเหล่านี้เรียกว่า ขี้ฮิวมัส พวกนอนก้นมีปลายข้าว รำนอนตะกอนพวกนี้เป็นจุลินทรีย์ที่ไม่ต้องการอากาศ
 
ประโยชน์
เพื่อเอาไปผสมกับหัวเชื้อทดแทนน้ำมะพร้าวจริง ซึ่งมีราคาแพงกว่า เป็นกระบวนการสร้างจุลินทรีย์มีชีวิตที่จะเอาไปย่อยสลายอินทรียวัตถุในกองปุ๋ย หากเราเอาน้ำมะพร้าวเทียมมาผสมกับหัวเชื้อ จะเกิดฝ้าขาวอีกชั้น มีขี้ฮิวมัส ส่งลงไปในดินเพื่อไปครองพื้นที่แทนจุลินทรีย์ที่เป็นโทษ เหมือนส่งกองทัพไปรบ กำลังพลเยอะกว่าก็ยึดพื้นที่และชนะ เช่นเดียวกันโรคจากจุลินทรีร้ายเข้ามาไม่ได้ไม่มีพื้นที่อยู่ ต้นไม้เราก็ปราศจากโรค

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้