ฟาร์มไส้เดือนตาหวาน

Last updated: 17 ต.ค. 2562  |  15159 จำนวนผู้เข้าชม  | 

 ฟาร์มไส้เดือนตาหวาน

“รูปแบบการเลี้ยงในฟาร์มเรา เป็นการเลี้ยงในถุงปุ๋ยเป็นส่วนใหญ่ ถ้านึกถึงการเลี้ยงในบ่อ เวลาจะนำมาแยกไส้เดือนกับมูล ต้องตักใส่ถุงไปที่เครื่องอยู่ดี ถ้าเลี้ยงในถุงไปเลยก็สะดวก ลดขั้นตอนการจัดการของเราไปได้ดี อีกทั้งถุงสามารถระบายอากาศได้ดี ไม่ต้องกลับกอง”

คุณขจรเกียรติ บรรเลงจิต


บ่อปลาสวยงามดัดแปลงเลี้ยงไส้เดือน ผลผลิตจากไส้เดือนประโยชน์มากเป็นที่ต้องการ
พื้นที่ในสวน 1 ไร่ ของ คุณขจรเกียรติ บรรเลงจิต ถูกดัดแปลงเป็นบ่อเลี้ยงปลาเรียงรายกันเป็นแนว เมื่อเลี้ยงไปก็รู้สึกว่าอยากลดต้นทุนค่าอาหารและลดการจัดการที่ต้องไปซื้อและสำรองไว้ นึกไปถึงการใช้ไส้เดือนมาเป็นอาหารปลาที่ว่ากันว่าช่วยให้ปลาสีสันสวยงามขึ้น มีโปรตีนสูงช่วยให้ปลาน้ำหนักดี เมื่อได้มีโอกาสไปดูฟาร์มเลี้ยงไส้เดือนทองหนองโพ จึงนำมาทดลองเลี้ยงเพื่อเป็นอาหารเสริมแก่ปลาสวยงามที่เลี้ยงอยู่ โดยดัดแปลงบ่อเลี้ยงปลาสวยงามเดิมส่วนหนึ่งมาเป็นบ่อเลี้ยงไส้เดือน


คุณขจรเกียรติยังเล่าอีกว่า เดิมจะเป็นลูกค้าที่นำปุ๋ยมูลไส้เดือนไปใช้กับสวนผลไม้และสวนมะนาวซึ่งทำกันโดยส่วนใหญ่ในอัมพวา อีกส่วนหนึ่งก็เป็น กลุ่มที่ปลูกผักส่งขายตลาดที่ซื้อไปใช้แล้วได้ผลดี ปัจจุบันที่มาซื้อไปใช้กันมากคือกลุ่มเลี้ยงกุ้ง โดยที่กลุ่มเลี้ยงกุ้งจะใช้แทนปุ๋ยโบกาฉิที่เคยใช้กันอยู่ก่อน โดยใช้บำบัดน้ำในบ่อ รวมถึงสร้างอาหารในน้ำให้กับกุ้งด้วย คุณขจรเกียรติเองก็ลงทุนทำบ่อเลี้ยงกุ้งและได้ทดลองใช้ประโยชน์ปุ๋ยมูลไส้เดือนดูด้วยก็พบว่า ได้ผลดีจริง ลดต้นทุนการผลิต ตั้งแต่การตากบ่อที่ไม่ต้องใช้ปูนมาปรับสภาพดินเลย เมื่อเอาน้ำเข้าบ่อใช้ปุ๋ยมูลไส้เดือนปรับสีน้ำ ช่วยให้เกิดสัตว์หน้าดินสำหรับเป็นอาหารกุ้งเล็ก ค่าความเป็นกรด-ด่างคงที่  ตลอดจนค่าอัลคาไลน์ได้มาตรฐาน ค่านี้คือปริมาณธาตุอาหาร เช่น แมกนีเซียม แคลเซียม โปรตีน คาร์โบไฮเดรต ฯลฯ ที่ช่วยเสริมสร้างผิวหนังของสัตว์และพืชน้ำ สร้างจุลินทรีย์โปรไบโอติกที่จะช่วยฆ่าแบคทีเรียไม่ดีในลำไส้ของสัตว์ นอกจากนี้การเอาปุ๋ยมูลไส้เดือนไปใช้กับบ่อกุ้งแล้วไม่พบปัญ­หากุ้งตายด่วน (EMS) ดังที่คนเลี้ยงกุ้งประสบกัน
 


เน้นเลี้ยงเพื่อผลิตปุ๋ย แนะนำการผลิตน้ำสกัดแก่เกษตรกร จำหน่ายพันธุ์เป็นส่วนน้อย
 “การเก็บฉี่ไส้เดือนหรือน้ำสกัดมูลไส้เดือนที่เป็นน้ำชะ เขาจะเก็บกันตอนที่มูลไส้เดือนมีความเป็นปุ๋ยแล้ว 70% แทนที่ไส้เดือนมันจะกินต่ออีก 10% แล้วผมจะลดความชื้นเพื่อเก็บเกี่ยวได้เร็ว พอไปรดน้ำเพื่อจะเอาน้ำสกัดมูลไส้เดือน เราก็ต้องรอให้ความชื้นมันลดลงอีกเพื่อจะเอาไปเข้าเครื่องแยกมูลกับไส้เดือน กว่าจะได้เก็บเกี่ยวผลผลิตก็ยืดเวลาไปอีก เราก็เลยเลือกไม่เก็บ อีกอย่างในการทำการเก็บแต่ละครั้งผมว่ามันไม่เสถียรความเข้มข้นควบคุมให้เท่ากันยากสำหรับรูปแบบน้ำชะมูลไส้เดือน ไม่งั้นมาตรฐานแต่ละขวดก็ไม่เท่ากัน เราสอนให้เกษตรกรที่มาซื้อปุ๋ยไปใช้ให้เขาทำเองได้ เป็นรูปแบบ Worm Tea ที่เอาปุ๋ยไปหมักแช่น้ำตามสัดส่วนซึ่งมันได้มาตรฐานกว่า พอเขาใช้ได้ผลแล้วมาซื้อปุ๋ยเราซ้ำ เราพอใจตรงนี้มากกว่า”


ช่วงเริ่มแรกจะใช้ไส้เดือนพันธุ์แอฟริกันเป็นหลัก แต่ปัจจุบันก็มีพันธุ์ไทเกอร์เลี้ยงปนอยู่ด้วย แต่ก็เป็นส่วนน้อย เหตุที่เลี้ยงร่วมกัน เพราะว่าธรรมชาติของทั้งสองพันธุ์จะกินอาหารอยู่ต่างชั้นความลึกกัน เมื่อนำมาเลี้ยงร่วมกันจะดีตรงที่แบ่งกันทำงาน พันธุ์แอฟริกันกินอยู่ด้านบน ส่วนพันธุ์ไทเกอร์จะกินอยู่ลึกกว่า เช่นนี้แล้วการผลิตปุ๋ยย่อมจะรวดเร็วขึ้น อีกทั้งช่วยให้ไม่ต้องกลับกองมาก

เริ่มด้วยบ่อปูน เพิ่มรูปแบบกะละมัง ร่วมกับสมาชิกเครือข่ายพัฒนาไปสู่รูปแบบการเลี้ยงในถุงกระสอบ
ในช่วงแรกเป็นการทำไปเรียนรู้ไป คนงานที่จะมาช่วยก็ยังไม่มี กำลังการผลิตจึงไม่มาก ในเดือนๆ หนึ่งผลิตปุ๋ยมูลไส้เดือนได้อยู่ที่ประมาณ 4-5 ตัน จากบ่อเลี้ยงประมาณ 7-8 บ่อ ที่เคยเลี้ยงปลามา ภายหลังได้เพิ่มรูปแบบการเลี้ยงในกะละมังบนชั้นที่หลายฟาร์มนิยมเลี้ยงขึ้นมาเพิ่มเติม ภายหลังก็ได้ร่วมกับเครือข่ายเกษตรกรรุ่นใหม่ภาคตะวันตกพัฒนาวิธีการเลี้ยงที่ง่ายขึ้นมาอีก นั่นคือการเลี้ยงไส้เดือนในกระสอบปุ๋ย ซึ่งเป็นภาชนะเลี้ยงที่หาได้ง่าย ต้นทุนต่ำ สะดวกในการจัดการ ขนย้ายสะดวก เป็นรูปแบบที่น่าสนใจที่จะขยายผลไปยังคนที่อยากเลี้ยงไส้เดือนได้ดีรูปแบบหนึ่ง

ตามจริงแล้วเลี้ยงในถุงไปนานๆ ถุงมันก็เปื่อยขาดได้เหมือนกัน ในกลุ่มเครือข่ายจึงคิดปรับเปลี่ยนภาชนะเลี้ยงที่ทนทานขึ้นกว่าเดิมแต่ก็ยังคงความเรียบง่ายและต้นทุนต่ำอยู่ จากถุงปุ๋ยจึงจะปรับเป็นรูปแบบตะกร้าพลาสติกสานแทน โดยที่เครือข่ายมีการทำต้นแบบออกมาเพื่อทดลองใช้แล้ว ตะกร้าสานนี้จะมีรูช่วยในการระบายอากาศดีเหมือนถุงปุ๋ย อายุการใช้งานสามารถอยู่ได้เป็น 10 ปี ทนทานกว่าถุงปุ๋ย แม้ถุงปุ๋ยจะมีต้นทุนถุงละ 2 บาท ในขณะที่ตะกร้าสานจะอยู่ที่ 20 บาท แต่ถ้าเทียบเรื่องอายุการใช้งานแล้วตะกร้าคุ้มกว่า รูปแบบตะกร้าสานสามารถใช้เอาไปเลี้ยงไส้เดือนภายนอกโรงเรือนอย่างใต้ต้นไม้ได้ เพราะหากเป็นถุงปุ๋ยที่โดนน้ำรดบวกกับโดนแดดแค่ครั้งเดียวคอถุงก็เปื่อยแล้ว

ใช้ก้อนเห็ดเก่าที่ยังคงธาตุอาหารผสมวัสดุเลี้ยง หมักด้วยจุลินทรีย์ป่าก่อนเลี้ยงเพื่อเป็นอาหารชั้นยอด
 “เราใช้ก้อนเห็ดเก่ามาวัสดุเพาะแทนที่จะเป็นขุยมะพร้าวเหมือนกับที่เขาใช้กัน ตัวก้อนเห็ดเก่ามันดีกว่าตรงที่มันมีธาตุอาหารหลงเหลืออยู่มาก ซึ่งปกติก้อนเห็ดจะใช้ไส้เดือนไปกินเลยโดยที่ไม่ต้องผสมมูลสัตว์ยังได้เลย ไส้เดือนกินได้ง่ายกว่า ในก้อนเห็ดมันมีทั้งขี้เลื้อย รำข้าว ธาตุอาหาร เช่น สังกะสี และอื่นๆ ซึ่งตกค้างอยู่ในก้อนเห็ดอยู่แล้ว เขาถึงเอาไปใช้เพาะเห็ดฟางกันได้ต่อ อีกอย่างเราใช้มูลไก่ไข่มาทำซึ่งต้นทุนสูงกว่ามูลวัวอยู่แล้ว วัสดุผสมอีกส่วนเราจึงเลือกก้อนเห็ดเก่าแทนขุยมะพร้าวเพราะต้นทุนถูกกว่า เป็นการลดต้นทุนไปในตัวโดยที่คุณค่าของตัวปุ๋ยที่ผลิตไม่ตกไปด้วย”
 



ทดลองเลี้ยงใต้ต้นไม้ในสวนไม้ผล จัดระบบที่เอื้อประโยชน์ระหว่างไม้ผลและไส้เดือนที่เลี้ยง
ปัจจุบันมีคนงานอยู่ 3 คน ผลิตแบบไม่ได้มีสต็อก ผลิตไปจำหน่ายไปก็หมด เฉลี่ยผลิตปุ๋ยได้อยู่ที่ประมาณ 15-20 ตันต่อเดือน พื้นที่เลี้ยงส่วนใหญ่อยู่ในโรงเรือนบังแสง มีทั้งแบบที่เลี้ยงในบ่อปลาเดิม เลี้ยงในกะละมังซ้อนกันบนชั้นในแนวดิ่ง เลี้ยงในถุงปุ๋ยตั้งกับพื้นโรงเรือน อีกรูปแบบที่น่าสนใจซึ่งไม่ต้องลงทุนอะไรเพิ่มคือการเลี้ยงในถุงปุ๋ยใต้ต้นไม้ ซึ่งคุณขจรเกียรติได้ทดลองแล้วได้ผล เพียงแต่สิ่งที่ต้องเสริมเข้ามาคือวัสดุพรางแสง ร่มเงาบังใบของต้นไม้นั้นอาจช่วยด้วยระดับหนึ่ง แต่การเสริมวัสดุพรางแสงก็เป็นการช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการกักความชื้นไว้ในวัสดุเพาะเลี้ยง การที่ตั้งถุงปุ๋ยที่เป็นภาชนะเลี้ยงบนพื้นดินก็ช่วยให้ระบายความร้อยได้ดี เนื่องด้วยดินหรือห­้าเก็บความชื้นได้ดี


 

การเลี้ยงไส้เดือนในกระสอบ
วัสดุอุปกรณ์
1.ถุงกระสอบพลาสติก
2.มูลวัวนมและไก่ไข่
3.ก้อนเพาะเห็ดเก่า
4.ไส้เดือนดิน
 
การเตรียมวัสดุเพาะ
1.นำก้อนเห็ดเก่าที่ตีป่นด้วยเครื่องตีป่นให้ละเอียด นำมาผสมคลุกเคล้ากับมูลวัวนมและมูลไก่ไข่ โดยใช้อัตราส่วน ก้อนเห็ดเก่าใช้เพียง 10% ของมูลสัตว์  ถ้าเป็นสัดส่วนในการผสมลงในเครื่องผสมจะเป็นขี้วัว 6 กระสอบ ขี้ไก่ 1 กระสอบ และก้อนเห็ด 1 กระสอบ 


2.เพิ่มรำข้าวในเครื่องผสมด้วย ใช้สัดส่วนรำ 1 กิโลกรัมต่อวัตถุดิบ 200 กิโลกรัม เมื่อคลุกเคล้ากันดีแล้วจะผสมด้วยด้วยน้ำหมักจุลินทรีย์ต่อ
3.รดน้ำหมักจุลินทรีย์ที่เจือจางน้ำแล้วอัตราส่วน 1 : 200 ส่วน ในเครื่องผสมเลย ฉีดพ่นให้วัสดุเพาะเลี้ยงมีความชื้นประมาณ 60% แล้วบรรจุใส่ถุงปุ๋ย ผูกปากปิดถุง นำไปตั้งไว้ในที่ร่ม ทิ้งไว้ประมาณ 2 สัปดาห์


4.นำวัสดุเพาะที่ผ่านการหมักย่อยแล้วไปทำการตีป่นอีกครั้ง เพื่อให้มีความเป็นผงละเอียดง่ายต่อการชอนไชอยู่อาศัยและการกินของไส้เดือน

ขั้นตอนการทำ
1.วัสดุเพาะเลี้ยงที่หมักมาแล้วจะสูงขึ้นมาจากก้นถุงอยู่ประมาณ 20-25 เซนติเมตร ม้วนคอถุงลงไปให้สูงกว่าผิวหน้าของวัสดุเพาะประมาณ 10 เซนติเมตร นำถุงกระสอบไปใส่น้ำให้ชื้น รอให้น้ำไหลซึมออกจากถุงกระสอบจนวัสดุเพาะชุ่มชื้นแบบพอหมาด
2.นำไส้เดือนดินที่เตรียมไว้มาวางลงบนวัสดุเพาะในถุงกระสอบ โดยถุงหนึ่งจะใช้ใช้เดือนกำมือหนึ่งหรือ 1-2 ขีด รอให้ไส้เดือนเลื้อยมุดลงไปในวัสดุเพาะเองโดยไม่ต้องกลบตัวไส้เดือน


3.นำถุงกระสอบที่บรรจุไส้เดือนแล้วไปตั้งไว้ในพื้นที่ร่มใต้หลังคา เพื่อป้องกันการสู­เสียความชื้นจากวัสดุ ตั้งเรียงให้ชิดกันเป็นแถวหรือปรับตามลักษณะของพื้นที่โดยให้ใช้พื้นที่ให้คุ้มค่าที่สุดในการจัดเรียง ถ้าเลี้ยงในถุงกระสอบจำนวนมากอาจตั้งเรียงโดยให้มีพื้นที่ที่สามารถเดินเข้าไปจัดการสิ่งต่างๆ ได้ง่ายขึ้น


หมายเหตุ การเลี้ยงเพื่อผลิตปุ๋ยมูลไส้เดือนจะไม่มีการให้อาหารกับไส้เดือน แต่จะให้ไส้เดือนกินอาหารที่มีอยู่ในวัสดุเพาะเพียงอย่างเดียว เนื่องจากไม่ได้เลี้ยงไส้เดือนด้วยวัตถุประสงค์ในการกำจัดขยะอินทรีย์หรือบำรุงไส้เดือนเพื่อขายพันธุ์ การหมักวัสดุเพาะและเลือกวัสดุเพาะที่มีธาตุอาหารก็เป็นการปรุงอาหารที่ดีสำหรับไส้เดือนที่เพียงพอแล้ว แต่ถ้ามีเศษอาหารจากครัวเรือนเหลือก็สามารถนำไปให้ไส้เดือนกินได้โดยนำไปฝังในวัสดุเพาะ

การเก็บเกี่ยวผลผลิตปุ๋ยมูลไส้เดือน
ครบระยะเวลาการเลี้ยง นำถุงเลี้ยงไส้เดือนไปเข้าเครื่องเก็บเกี่ยว เครื่องจะแยกมูลและตัวไส้เดือนออกจากกัน นำไส้เดือนย้ายไปลงถุงวัสดุเพาะที่ผ่านการหมักมาใหม่เพื่อเลี้ยงต่อไป ส่วนมูลไส้เดือนที่แยกมาให้นำไปผึ่งเพื่อลดความชื้นลงระดับหนึ่ง โดยตากลดความชื้นนาน 1-2 ชั่วโมง กลับกอง 2 ครั้ง จากนั้นจึงจะบรรจุถุงเพื่อเก็บไว้ใช้หรือจำหน่ายต่อไป


การเลี้ยงไส้เดือนในถุงกระสอบใต้ต้นไม้ผล
เมื่อบรรจุไส้เดือนลงถุงกระสอบที่ผ่านการหมักย่อยวัสดุเพาะมาแล้ว 2 สัปดาห์ สามารถนำไปตั้งเรียงกันไว้ใต้ต้นไม้ที่มีร่มเงารำไรได้ หากมีร่มเงาน้อยสามารถนำเศษพืช เช่น ทางมะพร้าว ฟางข้าว ใบไม้ใหญ่ๆ ฯลฯ มาปิดพรางแสงที่ปากถุงได้ 


การดูแลไม้ผลในสวนก็เป็นการดูแลไส้เดือนในถุงไปด้วย เมื่อทำการรดน้ำต้นไม้ผลด้วยสปริงเกลอร์ในบริเวณนั้นให้เปิดวัสดุพรางแสงบนถุงเลี้ยง วัสดุเพาะจะได้รับน้ำเพื่อเพิ่มความชื้นไปด้วย ยิ่งไปกว่านั้นน้ำที่ชะผ่านวัสดุเพาะเลี้ยงไส้เดือนก็จะพาเอาธาตุอาหารส่วนหนึ่งออกไปที่ก้นถุงและลงดิน ซึ่งจะช่วยให้ไม้ผลบริเวณนั้นได้รับสารอาหารจากปุ๋ยมูลไส้เดือนไปในตัว จากการทดลองพบว่าต้นส้มโอที่เลี้ยงไส้เดือนในถุงไว้ใต้ต้นมีความหวานขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

ข้อมูลจาก วารสารเกษตรกรรมธรรมชาติ ฉบับ 5/2558 “นวัตกรรมการเลี้ยงไส้เดือนเชิงพาณิชย์”

สั่งซื้อ ฉ.5/2558
 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้