Last updated: 19 ก.ย. 2562 | 9944 จำนวนผู้เข้าชม |
น้ำท่วม ภัยแล้ง อยู่รอดได้ ด้วยโคกหนองนาโมเดล
"เมื่อปีที่ผ่านมา พื้นที่หลายแห่งประสบภัยแล้งอย่างหนักในรอบหลายสิบปี พอมาถึงปีนี้ หลายพื้นที่กำลังประสบปัญหาน้ำท่วม สภาพภูมิอากาศที่แปรปรวนเช่นนี้ หากเราไม่เตรียมพร้อมรับมือให้ดี ภาคการเกษตรย่อมฟื้นตัวจากความเสียหายได้ยาก แต่ใช่ว่าเราจะหมดหนทาง เพราะยังมีศาสตร์ของพระราชาว่าด้วยเรื่องการจัดการพื้นที่ด้วยโคก หนอง นา โมเดล ที่ได้ผลอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะน้ำท่วม หรือว่าน้ำแล้ง ก็ช่วยให้อยู่รอดได้อย่างยั่งยืน"
คุณอุทุมพร สุขแพทย์ หรือ ผู้ใหญ่อ้อย สาวแกร่งแห่งเมืองลพบุรี นอกจากทำงานรับใช้ประชาชน และเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างแล้ว ผู้ใหญ่อ้อยยังมีความสนใจเรื่องเกษตรอีกด้วย โดยในช่วงแรกเน้นจ้างคนมาทำ และยังไม่สนใจเรื่องการทำเกษตรไม่ใช้สารเคมี จนเกิดเหตุการณ์ที่เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของชีวิต
ปรับพื้นที่ตามหลักโคกหนองนา ความเสียหายบรรเทา
สำหรับในปีนี้ พื้นที่อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรีได้รับความเสียหายจากอุทกภัย แม้จะไม่รุนแรงเหมือนปี 2554 แต่หลายพื้นที่ก็มีปริมาณน้ำท่วมสูง แปลงเกษตรของผู้ใหญ่อ้อยก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน แต่เป็นบริเวณที่ลุ่มต่ำ ได้แก่ นาข้าว และพื้นที่สวนที่อยู่ด้านหลัง แต่บริเวณโคกซึ่งปรับใหม่หลังจากที่ไปอบรมกับอาจารย์ยักษ์มา ไม่ได้รับความเสียหายแต่อย่างใด และยังสามารถผลิตอาหาร ทั้งบริโภคเอง เก็บไปขาย และมีเหลือแบ่งปันให้ผู้อื่น
"น้ำมันท่วม แต่ถามว่าโคกหนองนาโมเดลช่วยได้ไหม ช่วยได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ถ้าเกิดไม่มีโคกหนองนาน่ะสิ ของพี่เสียหายไปเลย พืชผักพวกนี้ตายหมด เพราะอยู่ข้างล่างตายหมด แต่เรามีโคก เรามีทุกอย่างให้กิน ไม่มีปัญหาในการจัดการ เพราะว่าปีที่ผ่านมา ที่เราจัดงานพลังคนสร้างสรรค์โลก ปี 4 พี่เอาผักที่สวนมาให้ที่บ้านทำ แล้วก็หุงข้าว ทำกับข้าวเป็นหม้อๆ ไปเลี้ยงน้องๆ ทหารที่มาเตรียมงานทุกวัน เก็บผักที่สวน พริกบ้าง กะเพรา โหระพา พวกแค แกงส้ม มะละกอ มาทำเลี้ยงกัน ส้มตำบ้าง เลี้ยงหลายเดือนอยู่นะ เราไม่ได้เตรียมงานกันแค่วันเดียวนะ ทั้ง 3 มื้อเลย”
น้ำท่วม หรือน้ำแล้ง ทำตามโมเดลอยู่รอดได้จริง
แต่ถ้าย้อนกลับไปเมื่อปีที่แล้ว ทั่วทุกพื้นที่ประสบภัยแล้ง แต่พื้นที่เกษตรของผู้ใหญ่อ้อย กลับยังมีน้ำชุ่ม จนสามารถแบ่งปันน้ำให้ชาวบ้านที่ขาดแคลนได้ รวมถึงมีเรื่องเล่าที่ใครต่อใครคิดว่าเป็นเรื่องเหลือเชื่อ จนต้องมาพิสูจน์ด้วยตัวเอง
“ทั้งท่วมทั้งแล้ง มันก็อยู่ได้ เพราะปีที่แล้ว มันแล้ง แล้งมากจริงๆ น้ำมันก็มี เราปลูกข้าว ครั้งที่แล้วช่อง 7 มาถ่าย ช่อง 3 มาถ่าย ยังปลูกข้าวได้เลย มีน้ำ และทางเทศบาลก็มาขอน้ำไปให้ชาวบ้านบริโภคเพราะว่ามันไม่มีน้ำ ที่นี่มาดูดเอาได้เลย ใครไม่มีน้ำก็มาเอาได้เลย ที่นี่มีน้ำเต็มการันตี และน้ำในสวนพี่ในก็เยอะอีก พี่ไปขุดกล้วยหนีน้ำ บนโคก เขาแล้งกันแต่พี่ไม่แล้ง พอพูดอย่างนี้คนหัวเราะอ่ะ ปีที่แล้งๆ พี่บอกพี่ขุดกล้วยหนีน้ำ เขาหัวเราะ พี่บอก เฮ้ยไม่ใช่เรื่องขำ จริงๆ ที่สวนน้ำมีเยอะ ไม่มีใครเชื่อ ต้องถ่ายรูปให้เขาดู เขาบอกว่าเป็นไปได้ยังไง ไม่เชื่อ เขาก็มาดูกัน เราบอกมาดูและพิสูจน์เอง อย่าเชื่อ มาดูเลย หลายคนก็เข้ามาดูนะ ก็เข้ามาดูว่า เออ ใช่ มันจริง”
หยุดน้ำท่วมได้ ทุกคนต้องช่วยกัน
“การจัดการน้ำท่วม มันต้องจัดการทั้งระบบ มันต้องฝากผู้หลักผู้ใหญ่ด้วย มันต้องดูทั้งระบบ มันไม่ใช่แค่บ้านเดียวจะแก้ปัญหาได้ทั้งหมด หรือว่าไม่เฉพาะผู้หลักผู้ใหญ่ มันก็ต้องชาวบ้านทุกคนต้องร่วมมือร่วมใจกันแก้ไข มันต้องแก้ไขทุกบ้าน ไม่ใช่บ้านนี้ฉันยอมเสียที่ แบ่งให้เป็นทางน้ำ แต่อีกบ้านนึงไม่ให้ มันก็มีค่าไม่ต่างกัน เหมือนที่หมู่นี้ หมู่ 8 เกิดปัญหาไง อีกบ้านนึงท่วม น้ำขังอยู่อย่างนั้น อีกบ้านนึงไม่ให้ผ่าน มันก็เกิดปัญหา ทุกคนต้องยอมเสียสละ ต้องมีข้อนี้สำคัญ"
"เราต้องช่วยกัน คนเดียวทำไม่สำเร็จหรอก อย่างที่อาจารย์ยักษ์บอก ทำงานต้องมี 5 ภาคีร่วมกัน ทั้งรัฐ ทั้งเอกชน ทั้งภาคประชาชน ทั้งสื่อสารให้ข้อมูลไป นักเรียนนักศึกษาช่วยกัน เพราะเชื่อได้เถอะว่าโครงการที่ในหลวงนำมา ท่านทดลองมาแล้ว และท่านประสบความสำเร็จแล้ว ท่านจึงได้นำมาให้ชาวบ้านได้ทำ”
แผนผังพื้นที่ผู้ใหญ่อ้อย
ที่มา : นิทรรศการข้อมูลการออกแบบพื้นที่ โดยมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
พื้นที่ของผู้ใหญ่อ้อย มีทั้งหมด 42 ไร่ ตั้งเป้าหมายว่าจะทำเกษตรเพื่อเลี้ยงคนให้ได้ 100 คน จึงออกแบบพื้นที่ตามปริมาณน้ำฝนและกิจกรรมภายในแปลง ดังนี้ คน 1 คน บริโภคข้าว 0.3 กิโลกรัมต่อวัน ข้าว 1 ไร่ ปลูกข้าวเปลือกได้ 1,000 กิโลกรัม สีเป็นข้าวสารได้ 500 กิโลกรัม ต้องใช้พื้นที่นาประมาณ 20 ไร่ ข้าว 1 ไร่ ใช้น้ำ 1,500 ลบ.ม. พื้นที่นา 20 ไร่จึงต้องใช้น้ำ 30,000 ลบ.ม. เมื่อคำนวณจากปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยของจังหวัดลพบุรี 1,100 มิลลิเมตร/ปี และปริมาณน้ำฝนในพื้นที่ 70,400 ลบ.ม./ปี ดังนั้น จึงต้องขุดหนองทั้งหมด 10 ไร่ ขุดลึก 6 เมตร เพื่อให้เก็บน้ำได้ 96,000 ลบ.ม./ปี และมีน้ำระเหย 48,000 ลบ.ม./ปี สรุปได้ว่า พื้นที่ของผู้ใหญ่อ้อย แบ่งเป็น
-โคก 10 ไร่ บนโคก ปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง โดยปลูกพืชทั้งหมด 5 ระดับ ได้แก่ ระดับใต้ดิน เช่น เผือก มัน ระดับพื้นดิน เช่น กะเพรา พริก มะเขือ ระดับต่ำ เช่น กล้วย มะละกอ มะนาว ระดับกลาง เช่น สะเดา ขนุน มะม่วง แค ไผ่ และระดับสูง เช่น ตะเคียน ยางนา ประดู่ โคกจะช่วยเก็บน้ำไว้ใต้ดิน โดยมีรากของต้นไม้ช่วยดูดซับน้ำไว้ใต้ดิน
-หนองน้ำ 10 ไร่ ในหนองน้ำ จะขุดเป็นขั้นๆ มีความลึกหลายระดับ เพื่อลดการพังทลายของดิน ส่วนที่แสงแดดส่องถึงจะเป็นที่อยู่ของปลา และเวลาน้ำลด สามารถปรับพื้นที่ปลูกผักได้ และมีร่องน้ำคลองไส้ไก่อยู่โดยรอบ เพื่อกระจายน้ำและความชุ่มชื้นไปทั่วพื้นที่ และช่วยระบายน้ำในยามที่เกิดน้ำท่วม
-นาและคันนารวม 20 ไร่ คันนาทำให้กว้างและสูง 2 เมตร เพื่อเพิ่มพื้นที่เก็บน้ำ และคันนาที่กว้างสามารถปลูกต้นไม้บนคันนาได้ ระหว่างคันนากับผืนนาก็ขุดร่องน้ำ สามารถเลี้ยงปลาพร้อมกับการทำนาได้ แต่เนื่องจากมีกำลังแรงงานในการทำกิจกรรมต่างๆ ค่อนข้างจำกัด ผู้ใหญ่อ้อยจึงแบ่งพื้นที่โครงการออกเป็น 2 ช่วง ปัจจุบันอยู่ในเฟสแรก จัดการพื้นที่ 12 ไร่ ให้มีความสมบูรณ์ และครบวงจร สามารถเข้ามาเรียนรู้ได้หลายฐาน เช่น ฐานคนรักแม่โพสพ ฐานคนมีน้ำยา ฐานคนรักน้ำ ฐานคนเอาถ่าน และฐานแม่ธรณี หลังจากจึงจะขยายโครงการให้เต็มพื้นที่ 42 ไร่ต่อไป
ข้อมูลจาก วารสารเกษตรกรรมธรรมชาติ ฉบับที่9/2559 "สู้ภัยแล้ง ต้านน้ำท่วม สร้างสระเก็บน้ำในไร่นา จัดการน้ำอย่างยั่งยืน "
สังซื้อ ฉบับที่ 9/2559
19 ก.ย. 2562
25 ก.ค. 2562