ชุมชนต้นน้ำน่าน อนุรักษ์ดิน น้ำ ป่า แก้ปัญหาภัยพิบัติอย่างยั่งยืน

Last updated: 19 ก.ย. 2562  |  3185 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ชุมชนต้นน้ำน่าน อนุรักษ์ดิน น้ำ ป่า แก้ปัญหาภัยพิบัติอย่างยั่งยืน

ชุมชนต้นน้ำน่าน อนุรักษ์ดิน น้ำ ป่า แก้ปัญหาภัยพิบัติอย่างยั่งยืน

“ทำให้พื้นที่เกษตรตัวเองมีหลุม 1 หลุม เท่ากับจำนวนน้ำที่ถูกเก็บไว้บนพื้นที่สูงมันจะเพิ่มขึ้น ปริมาณน้ำที่บ่าท่วมลงไปก็จะลดลง ปริมาณน้ำที่เก็บไว้ใช้ในหน้าแล้งก็จะมีเพิ่มขึ้น”
คุณกุล   ปัญญาวงค์  ชุมชนต้นน้ำน่าน

คุณกุล   ปัญญาวงค์  วัย 54 ปี อดีตคนทำหนังสือท่องเที่ยวธรรมชาติ ทำงานกับคนเมืองและอยู่ในเมืองมาตลอด จนเมื่อได้ฟังอาจารย์ยักษ์พูดถึงปัญหาของน่าน ซึ่งเป็นบ้านเกิดของตัวเอง จึงเกิดความรู้สึกไม่สบายใจและตั้งใจที่จะกลับมาซื้อที่ดิน และลงมือสร้าง “ชุมชนต้นน้ำน่าน” ให้เกิดขึ้น


 

ฟื้นต้นไม้เดิม ปลูกต้นไม้เสริม สร้างความหลากหลายด้วยป่า 5 ชั้น
บริเวณที่ตั้งชุมชนต้นน้ำน่านแต่เดิมนั้นก็กำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน จากสวนผลไม้ เช่น ลิ้นจี่ ลำไย ที่ปลูกแซมในสวนยางพารา กลายเป็นสวนยางเชิงเดี่ยว แต่เมื่อพี่กุลได้เข้ามาอยู่ในพื้นที่ก็พยายามฟื้นป่าที่ส่วนใหญ่เป็นต้นยางให้มีพืชชนิดอื่นขึ้นแซมด้วย


“มีทั้งกล้าไม้เดิมที่งอกขึ้นมาเอง และกล้าไม้ที่ปลูกเพิ่มเข้าไป โดยจุดที่สูงที่สุดของพื้นที่ สูงจากระดับน้ำขึ้นไป 320 เมตร จะปลูกไม้ยืนต้นต่างๆ เช่น ตะเคียน ยางนา ประดู่ มะค่า ส่วนพื้นที่ระดับต่ำลงมาจะปลูกป่า 3 อย่างประโยชน์ 4 อย่าง ซึ่งพื้นที่ปลูกยางผสมผสานกับไม้ยืนต้นนี้ ถือเป็น 60% ของพื้นที่ทั้งหมด อีก 30% เป็นสวนลำไยที่ปลูกผสมผสานกับพืชอื่นๆ และอีก 10% คือพื้นที่นาและแหล่งเก็บน้ำ”

เก็บน้ำไว้ใช้ตลอดปี ในโคก หนอง นา คลองไส้ไก่ ฝาย แท็งก์
แต่เดิมพื้นที่มีนาอยู่ประมาณ 7 ไร่ แต่ไม่มีหนองน้ำอยู่เลย เวลาทำนาจึงอาศัยน้ำฝนที่ตกลงมา และสูบน้ำขึ้นมาจากอ่างเก็บน้ำห้วยคั๊วะเท่านั้น เมื่อพี่กุลเข้ามาอยู่ในพื้นที่และได้ทำตามหลักโคก หนอง นา โมเดล ก็ได้คำนวณปริมาณฝนที่ตกในพื้นที่ 1,800 มิลลิเมตรต่อปี และปริมาณน้ำที่ใช้ในพื้นที่ จากนั้นจึงสร้างที่เก็บน้ำ ได้แก่ แท็งก์น้ำ หนอง นา และคลองไส้ไก่ เพื่อให้มีน้ำไว้ใช้เพียงพอตลอดทั้งปี



สร้างชุมชนเศรษฐกิจพอเพียง เป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องกสิกรรมและสิ่งแวดล้อม
“เราตั้งเป้าหมายจะทำอยู่ 2-3 เรื่องคือ ทำยังไงให้ชาวบ้านพึ่งตัวเองได้ ในเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง การที่เขาไปทำในพื้นที่กว้างๆ ไปทำพืชเชิงเดี่ยว ไปทำเกษตรพันธะสัญญา ทำให้เกษตรกรต้องอยู่กับบริษัทคนกลาง แต่ถ้าเขากลับมาทำพื้นที่เล็กๆ ให้พอกิน พออยู่ พอใช้ เขาก็พึ่งตัวเองได้ สร้างรายได้ได้ อันนี้คือเป้าหมายแรก"

"อันที่สองคือ ถ้าที่นี่พึ่งตนเองได้แล้ว มันจะพัฒนาเป็นศูนย์ฝึกอบรมกสิกรรมธรรมชาติ หมายความว่าเราทำพอกินพออยู่ ทำให้ดู อยู่ให้เห็นแล้ว พอมีทักษะ มีองค์ความรู้แล้ว ก็ให้ที่นี่เป็นห้องเรียน เป็นที่ฝึกคนให้ทำตามได้"

"อีกเรื่องหนึ่งที่ตั้งไว้คือ ต้องการให้ที่นี่เป็นที่เรียนรู้เรื่องการฟื้นระบบนิเวศ เรื่องสิ่งแวดล้อม แยกออกมาเป็นเรื่องพลังงานทางเลือก ระบบนิเวศ สิ่งแวดล้อมศึกษา และเรื่องศิลปะทำให้คนเข้าใจเรื่องสิ่งแวดล้อมโดยใช้ศิลปะ เรียกว่าธรรมชาติศิลป์ มีอาจารย์เทพศิริ สุขโสภา เป็นคนช่วยเรื่องนี้”


ข้อมูลจาก วารสารเกษตรกรรมธรรมชาติ ฉบับที่ 9/2558 “โคก หนอง นา โมเดล หยุดท่วม หยุดแล้ง นวัตกรรมจัดการน้ำสู้วิกฤติ”

สั่งซื้อ  ฉบับที่ 9/2558

 

 

 

 

 

 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้