เกษตรกรพันธุ์ใหม่ หัวใจอินทรีย์ ปลูกสตรอเบอร์รี่อินทรีย์ ที่สวนหลังบ้าน

Last updated: 19 ก.ย. 2562  |  5259 จำนวนผู้เข้าชม  | 

เกษตรกรพันธุ์ใหม่ หัวใจอินทรีย์ ปลูกสตรอเบอร์รี่อินทรีย์ ที่สวนหลังบ้าน

เกษตรกรพันธุ์ใหม่ หัวใจอินทรีย์ ปลูกสตรอเบอร์รี่อินทรีย์ ที่สวนหลังบ้าน

 “ตอนที่ตัดสินใจว่าจะปลูกสตรอเบอร์ในครอบครัวไม่มีใครเชื่อเลว่าเราจะทำได้ 80 เปอร์เซ็นต์ของชาวบ้านที่นี่ เป็นเกษตร แล้วเราจะมาทำเกษตรแบบโลกสวย ปลูกสตรอเบอร์รี่อินทรียืเป็นเรื่องที่ทำไม่ได้แน่นอน เพราะคนที่ทำเกษตรอื่นๆ รอบบริเวณที่เขาใช้ปุยเคมี ใช้สารเคมีกำจัดแมลงกันหมด”

วลัยพร ภูมิรัตน์ หรือ บี

 

เกษตรกรพันธุ์ใหม่ หัวใจอินทรีย์

วลัยพร ภูมิรัตน์ หรือบี เกษตรกรรุ่นใหม่ ที่มีหัวใจรักการทำเกษตรอินทรีย์ บีเรียนจบด้านการจัดการการท่องเที่ยว จากมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง

“จังหวะชีวิตของคนที่ทำงานฟรีแลนซ์อย่างบีจะมีช่วงชีวิตอยู่ 2 ช่วง คือ ช่วงมีงานมีรายได้ และช่วงเคว้ง ช่วงที่เคว้งมากๆ บีก็จะกลับมาที่บ้านแบบไม่มีงานทำ เริ่มรู้สึกอายที่ต้องกลับมาพึ่งพาพ่อแม่อีก จึงเริ่มจากการปลูกผักหลังบ้าน ปลูกผักใส่กระถางแล้วเก็บผักมาใส่บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปกิน ตอนปลูกผักเล่นๆ กินเองนี่แหละทำให้บีรู้ตัวเองว่าบีเป็นคนที่ปลูกผักอะไรก็ขึ้น ปลูกข้าวโพดเล่นๆ หยอดเมล็ดลงหลุมก็ขึ้นงอกงามดี ทั้งๆ ที่เราก็ไม่ได้ใช้ปุ๋ยเคมี จึงเริ่มคิดว่าน่าจะเป็นไปได้ถ้าเราจะปลูกผัก หรือทำอะไรสักอย่างหนึ่งทางด้านการเกษตรแบบไร้สารพิษได้”
 

เลือกที่จะเป็นเกษตรกรอย่างภาคภูมิ
 “บีรู้สึกว่าอาชีพเกษตรกรเป็นอาชีพที่สง่างามมาก เราไม่อายที่จะบอกว่าเราเป็นเกษตรกร เราเลือกได้ว่าจะปลูกอะไร จะขายเท่าไหร่ เราควบคุมคุณภาพเอง เราเป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ที่เห็นความสำคัญของเกษตรประณีต การทำเกษตรอินทรีย์ ที่ไม่จำเป็นต้องใช้สารเคมีหรือปุ๋ยเคมี”


เมื่อมีความคิดอยากกลับมาลงหลักปักฐานอยู่บ้าน และพ่อก็มีที่ดินที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไรก็เลยจะสร้างบ้านให้ บีก็ได้หาข้อมูลว่าจังหวัดเชียงรายปลูกอะไรได้บ้าง ช่วงแรกคิดการณ์ไกลมองหาพืชที่ขายได้ราคาก่อน แต่ก็ไม่ใช่ทางเลือกที่ดีที่สุด

“มานึกได้ว่าพื้นที่ อ.แม่สาย และ อ.แม่จัน  ซึ่งเป็นอำเภอที่อยู่ติดกันเมื่อก่อนปลูกสตรอเบอร์รี่กันมาก แต่ก็เลิกรากันไปเพราะเรื่องโรคและแมลง บีจึงคิดว่าถ้าอย่างนั้นควรปลูกสตรอเบอร์รี่ เพราะพื้นที่เราเอื้อ เนื่องจากพื้นที่บริเวณนี้สูงกว่าระดับน้ำทะเล 400 เมตร ซึ่งหลักการปลูกสตรอเบอร์รี่นี้ต้องปลูกในพื้นที่ที่สูงกว่าระดับน้ำทะเล 400 เมตรขึ้นไป ซึ่งพื้นที่ของเราพอดีเลย”
 

ปลูกพืชอินทรีย์ในพื้นทีเขตเคมี ความท้าท้ายกับความรู้สึกของตัวเอง
สวนสตรอเบอร์รี่ของบีโดดเด่นกว่าสวนผักอื่นๆ ในละแวกเดียวกัน สังเกตได้จากบ้านไม้เก่าที่สร้างขึ้นจากภาพสเก็ตช์ทีบีออกแบบลายเส้นง่ายๆ และให้คุณพ่อสร้างให้ ด้านข้างของตัวบ้านติดกับแม่น้ำ ในช่วงที่น้ำลง บีจะทำแปลงปลูกผักสวนครัวบริเวณริมตลิ่ง พืชผักก็เจริ­งอกงามดีจากการสะสมของธาตุอาหารที่น้ำพัดพามา ส่วนพื้นที่หลังบ้านทำเป็นแปลงขนาด 3 งาน ถูกใช้ให้เป็นแปลงสำหรับปลูกสตรอเบอร์รี่อินทรีย์



สร้างความเชื่อมั่นว่า  “ต้องปลูกได้” ลงไปหาข้อมูลถึงแหล่งปลูก

ก่อนที่จะลงมือ ลงแปลงปลูกสตรอเบอร์รี่ บีขับรถไปที่ศึกษาหาข้อมูลจากการเรียนรู้ด้วยตัวเองที่ อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ ที่นอกจะเป็นแหล่งปลูก สตรอเบอร์รีแหล่งสำคัญยังเป็นแหล่งปลูกพันธุ์ไม้เมืองหนาวของจังหวัดเชียงใหม่อีกด้วย



ก่อนเริ่มปลูกบีเดินทางไปดูการปลูกสตรอเบอร์รี่ที่จังหวัดเชียงใหม่ เป็นแปลงของคุณวิทยา ซึ่งก็ให้คำแนะนำเรื่องการปลูกสตรอเบอร์รี่เป็นอย่างดี และที่สวนของคุณวินัยนี่เองที่บีซื้อกล้าสตรอเบอร์รี่ไปปลูกต้นกล้าของสตรอเบอร์รี่จะเรียกว่า “ไหล” ที่เรียกกล้าของสตรอเบอร์รี่ว่าไหลนั้น บีได้อธิบายว่าเกิดจากต้นสตรอเบอร์รี่ถ้าโตเต็มวัยแล้วจะงอกจากต้นแม่ พอได้แตะดินก็จะออกรากและขึ้นต้นใหม่ เขาเลยเรียกกันว่าไหลนั่นเอง

การปลูกสตรอเบอร์รี่สำหรับบี นั้น บีจะทำให้ง่ายและสะดวกต่อการทำงานมากที่สุด


 สตรอเบอร์รี่ (สวน) หลังบ้าน
พื้นที่หลังบ้านขนาด 3 งาน ที่ใช้ปลูกสตรอเบอร์รี่ต้องใช้กล้าสตรอเบอร์รี่ทั้งหมด 5,500 ต้น โดยทำแปลงหน้ากว้าง 60 ซม. ยกแปลงสูง 20-40 ซม. (แล้วแต่ปริมาณดิน) แปลงนึงปลูกสตรอเบอร์รี่ 2 ต้น มีระยะห่างกันประมาณ 25 ซม. และระหว่างร่องแปลงเว้นระยะห่างไว้ 30 ซม. ให้พอที่จะเดินทำงานในแปลงได้ และทำสแลนพรางแสงลดความร้อนในแปลง และเป็นที่หลบแดดในวันที่แดดแรงได้เป็นอย่างดี



ส่วนวิธีการดูแลต้นสตรอเบอร์รี่นั้นก็พิถีพิถันคัดสรรสิ่งดีๆ ให้กับต้นสตรอเบอร์รี่ ยิ่งทำในแบบเกษตรอินทรีย์ด้วยแล้ว ทุกอย่างสำหรับสตรอเบอร์รี่ต้องดีที่สุด โดยบีจะลงแปลงเองทุกวัน สำรวจ สังเกต และทำความรู้จักสตรอเบอร์รี่ทุกระยะ อย่างใกล้ชิด หลายๆ เทคนิคการดูแลสตรอเบอร์รี่ ของบีก็ได้มาจากการสังเกตพฤติกรรมการเจริ­เติบโตของสตรอเบอร์รี่ เช่น การเด็ดใบแก่ออก เพื่อกระตุ้นให้ใบใหม่แตกออกมา เพราะใบของสตรอเบอร์รี่จะห่อรัดกันเหมือนกาบกล้วย หากปล่อยทิ้งไว้ใบข้างในจะออกมาช้า ใบเก่าอาจเน่าจะเป็นตัวนำแมลงมาที่แปลงได้ และในช่วงที่ดอกสตรอเบอร์รี่ออก ผู้ปลูกต้องช่วยผสมเกสรให้ ข้อมูลบางที่แนะนำให้ใช้พู่กันป้ายเพื่อผสมเกสร แต่โชคดีที่สวนของบีมีกลุ่มชาวบ้านที่เลี้ยงผึ้ง บีก็จะไปยืมผึ้งของชาวบ้านผสมเกสรแทน จากการทดลองนำผึ้งมาช่วยผสมเกสรทำให้ผลผลิตในปีที่ 2 ได้มากกว่าปีแรก ซึ่งบีก็ยอมรับว่าวิธีนี้ได้ผลดีกับแปลงของเธอ

การกำจัดแมลงที่มารบกวนในแปลง ซึ่งก็สตรอเบอร์รี่มีผิวที่บาง ดังนั้นการถูกมด เพลี้ย นก กัดหรือเจาะจะทำให้ผลผลิตเสียหายได้ง่าย บีได้ใช้วิธีการจัดการด้วยวิธีธรรมชาติ เช่น ใช้ป้ายทากาวดักแมลงติดไว้ที่แปลง ช่วยดักแมลงได้มาก ใช้น้ำสกัดสมุนไพรฉีดพ่นไล่แมลง เช่น น้ำต้มดอกดาวเรือง สารสกัดจากพริกขิงฉีดพ่นไล่แมลง


มีพลัง ด้วยแรงใจจากครอบครัว
กับความตั้งใจที่จะปลูก  สตรอเบอร์รี่ระบบอินทรีย์ แม้ทุกคนรอบข้างที่ทราบจะชื่นชม แต่ก็ไม่เท่ากับการยอมรับของครอบครัว



“ช่วงที่สตรอเบอร์รี่อินทรีย์ชุดแรกของบีออก พ่อก็มองอยู่ห่างๆ เขาก็มีคำถามในใจว่าเราปลูกยังไง ขายยังไง เอาตลาดมาจากไหน พอพ่อถามบีก็ตอบพ่อไปตามตรงว่าบีปลูกยังไง และหาตลาดจากในโซเชียลเน็ตเวิร์ค เล่าเรื่องการปลูกสตรอเบอร์รี่อินทรีย์ให้เขาฟังผ่านตัวหนังสือและรูปที่สวนของเราให้คนติดตาม จากตอนแรกที่พ่อไม่เชื่อว่าบีจะทำได้ ตอนนี้เวลาที่พอเอา สตรอเบอร์รี่จากสวนของบีไป พ่อก็จะไปอวดคนอื่นว่าเนี่ยนะ สตรอเบอร์รี่ที่ลูกผมทำ ไม่ใช้ยาด้วย กลายเป็นว่าตอนนี้พ่อสนับสนุนเรามากขึ้น”

 
สูตรน้ำสมุนไพรไล่แมลงใช้ในแปลงสตรอเบอร์รี่

สูตรยาฉุน เนื้อมะพร้าวขูด เกล็ดกาแฟ
     1.เตรียมยาฉุน 2 ขีด ขูดมะพร้าว 1 ลูก ใส่รวมกันในอ่าง
     2.เทน้ำเดือดลงไป รอให้น้ำอุ่น จึงบีบคั้นยาฉุนและเนื้อมะพร้าวอ่อน แล้วกรองเอาแต่น้ำ ผสมเกล็ดกาแฟ 4 ช้อนโต๊ะ



วิธีใช้ น้ำไปผสมน้ำฉีดพ่นไล่แมลง เพลี้ยอ่อน เพลี้ยไฟ อัตราส่วน 50 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร

 สูตรพริกและขิง
     ตำพริก 1 กิโลกรัม และตำขิง 1 กิโลกรัม ใส่ถัง แล้วเทน้ำลงไป 5 ลิตร คนให้เข้ากัน ปิดปากถังด้วยผ้า ทิ้งไว้ 1-2 คืน

วิธีใช้ น้ำไปผสมน้ำฉีดพ่นไล่ มด แมลง เพลี้ยอ่อน อัตราส่วน 50 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร
 
สูตรตะไคร้
     ตำใบและลำต้นตะไคร้หอม 10 ต้น ใส่ถัง แล้วปิดปากถังด้วยผ้า แช่ไว้ 1-2 คืน

วิธีใช้ น้ำไปผสมน้ำฉีดพ่นไล่ มด แมลง อัตราส่วน 100 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร

สูตรดอกดาวเรือง
     ดอกดาวเรือง 1 กิโลกรัม ต้มในน้ำ 6 ลิตร จนเดือด แล้วปิดฝาให้ระอุ รอให้เย็น

วิธีใช้ น้ำไปผสมน้ำฉีดพ่นไล่แมลง อัตราส่วน 100 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร

สูตรน้ำหมักชีวภาพจากผลไม้
    1.หั่นมะละกอ ฟักทอง กล้วยน้ำว้า อย่างละ 3 กิโลกรัม เรียงผลไม้แต่ละชนิดลงในถังจากหวานมากที่สุดก่อน ผสมน้ำตาลทรายลงไป 5 กิโลกรัม
     2.ผสมผง พด.1 กับน้ำเปล่า คนให้เข้ากัน พักไว้ 5-10 นาที
     3.เทน้ำเปล่าลงไปในถัง 10 ลิตร เทน้ำผสมผง พด.
     4.ผิดปากถังด้วยผ้าขาวบาง คนทุก 2 วัน ทิ้งไว้ 20 วัน กรองเอาน้ำออก

วิธีใช้ น้ำไปผสมน้ำฉีดพ่นเร่งการพัฒนาผล อัตราส่วน 50 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร

ข้อมูลจาก วารสารเกษตรกรรมธรรมชาติ ฉ.1/2558 “เกษตรกรไทยสายพันธุ์ใหม่ ในวิถีเกษตรพึ่งตนเอง”

สั่งซื้อ ฉบับที่ 1/2558

 
 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้