Last updated: 20 ก.ย. 2562 | 12565 จำนวนผู้เข้าชม |
“หัวใจสำคัญคือความซื่อสัตย์ ถ้ายังเรียกกลับมาในหัวใจคนไทยไม่ได้ ไม่มีทางรอด พอขาดความซื่อสัตย์ไปแล้ว ผลผลิตคุณจะไม่มีคุณภาพ อย่างผมใครมากล้าท้าได้เลย เพราะผมมีหัวใจ มีความซื่อสัตย์ มีความจริงใจต่อลูกค้า 100%”
คุณวิรัตน์ น้อมเจริญ
จากสวนเคมี เปลี่ยนผ่านสู่สวนผลไม้ธรรมชาติ เข้าสวนได้สลายใจ
พื้นที่ 12 ไร่ 2 งานที่มีไม้ยืนต้นหลากหลายชนิดที่มีความร่มรื่น ปลูกโดยไม่ใช้สารเคมีใดๆ แต่เดิมพื้นที่นี้เคยปลูกพืชเชิงเดี่ยว คือ มันสำปะหลัง ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็นสวนมะพร้าว และสวนทุเรียนในช่วงที่มีการส่งเสริมให้จังหวัดระยองปลูกทุเรียนมากขึ้นช่วงปี 2508-2509 แล้วจึงได้ปลูกไม้ผลอื่นๆ แซมเข้าไป โดยใช้สารเคมีต่างๆ เป็นจำนวนมาก คุณวิรัตน์ น้อมเจริ เจ้าของสวนผลไม้ แห่งบ้านคลองทุเรียน อ.แกลง จ.ระยอง ซึ่งได้รับช่วงดูแลสวนนี้ต่อ ยังคงใช้สารเคมีต่อเนื่องมาอีกหลายปี จนวันหนึ่งเห็นว่าการทำเกษตรเคมีนั้นไม่ได้ทำให้มีความสุขใดๆ จึงค่อยๆ ลด ละ เลิกการใช้สารเคมีได้ในที่สุด
“ใช้สารเคมีมานานมากตั้งแต่ปี 2527 ใช้ยา ใช้ทุกชนิด ชีวิตไม่มีความสุข มีเงินก็จริงแต่ชีวิตไม่มีความสุข ก็เลยหันมาดูชีวิตเรามันแย่ลงๆ ไม่กล้านั่งกล้านอนในสวน กลัวยาฆ่าแมลง และเก็บอะไรกินก็ไม่สนิทใจ ประมาณ 2540 ตัดสินใจเลิกใช้สารเคมี แต่เราไม่ได้หยุดฮวบนะ ค่อยๆ หยุดไปทีละอย่าง 2 อย่าง ค่อยๆ ปรับ เลิกใช้ยาฆ่าหญ้าก่อน และทำปุ๋ยหมักปุ๋ยคอก และมาอีก 2 ปีถึงไม่ฉีดยาเลย แต่ทรมานมากเลยไม่ฉีดยา แมลงก็จะลงใบ จะฉีดหรือไม่ฉีด เป็นระยะวัดใจอยู่ 2-3 ปี พอเข้าสู่ธรรมชาติจริงๆ แล้ว มันสู้กันได้ มันจะปรับตัวเองจริงๆ ต่อไปจะพัฒนาให้เป็นสวนธรรมชาติ”
หญ้าคือปุ๋ยอย่างดี ปล่อยให้ขึ้นรกแต่ไม่แย่งอาหาร
สภาพสวนของคุณวิรัตน์ในปัจจุบัน มีลักษณะเป็นสวนผสมผสาน มีพืชหลากหลายชนิด และที่สำคัญมีหญ้าขึ้นอยู่ทั่วสวน จะตัดก็ต่อเมื่อหญ้าขึ้นรกเกินไป และเมื่อจะทำปุ๋ยบำรุงไม้ผล ต่างกับตอนที่ใช้สารเคมี หญ้าจะต้องถูกกำจัดจนโล่งเตียน
ทำเกษตรไร้เคมี มีเวลาว่าง ได้ผลผลิตดีพอกัน แต่ปลอดภัยกว่า
“ทำเกษตรเคมีไม่มีเวลา เปลี่ยนทำเกษตรอินทรีย์ มีเวลาว่างมาก ไม่ได้ทำอะไรเลย ตอนทำเคมี ฉีดยาฆ่าแมลง ฉีดยาฆ่าหญ้า ฉีดยาฆ่าเชื้อรา ถ้าไม่ฉีดยากไม่ไหว ไล่ไปเลย ถ้าเป็นเกษตรเคมีหมดลูก ฉีดยาฆ่าหญ้าก่อน เสร็จแล้ว กระตุ้นใบอ่อน ใส่ปุ๋ย ฉีดปุ๋ย สารพัดที่จะทำ พอทำเกษตรธรรมชาติ ต้นไม้เขาทำเขาเอง เราดูแลเขานิดหน่อย ตัดแต่งกิ่ง แล้วเขาจะดูแลของเขาเสร็จ”
สำหรับผลผลิตเมื่อเปรียบกัน คุณวิรัตน์บอกว่าไม่ต่างกันมากนัก เพียงแต่ขนาดของผลผลิตอาจจะไม่ใหญ่เทียบเท่าสวนที่ใช้ปุ๋ยเคมี แต่เรื่องคุณภาพนั้นดีกว่าแน่นอน ทั้งคุณภาพผลไม้และคุณภาพชีวิต
ปัจจุบันคุณวิรัตน์มีลูกค้าประจำที่มาซื้อถึงสวน และมีบริการไปส่งให้ถึงที่ รวมทั้งมีแผงผลไม้ขายอยู่ที่ตลาดกลางผลไม้เพื่อการเกษตรตะพง จังหวัดระยอง ซึ่งราคาผลผลิตจากสวนก็ใกล้เคียงกับราคาตลาดทั่วไป คือ มังคุด กิโลกรัมละ 40-60 บาท ลองกองตันหยงมัสและพันธุ์ของจันทบุรี กิโลกรัมละ 50-70 บาท ทุเรียนหมอนทอง ถ้ามาตัดเองที่สวนกิโลกรัมละ 30 ถ้าต้องไปส่งให้ กิโลกรัมละ 60 บาท ส่วนทุเรียนชะนี มาตัดเองที่สวน กิโลกรัมละ 12 บาท ถ้าไปส่ง กิโลกรัมละ 30 บาท นอกจากขายผลไม้แล้ว คุณวิรัตน์ยังมีรายได้จากการขายผักกูด หน่อไม้ดอง และผลิตภัณฑ์แปรรูปอื่นๆ จากในสวนที่ตลาดชุมชนใกล้บ้านอีกด้วย
การทำสวนผลไม้ธรรมชาติ
-การดูแลรักษา สำหรับมังคุด หลังจากเก็บผลผลิต ควรตัดแต่งทรงพุ่มไม่ให้สูงเกินไป ที่นี่สูงไม่เกิน 3 เมตรครึ่ง ทำให้เก็บผลผลิตได้สะดวก พยายามให้แสงแดดส่องถึงลำต้นอย่างพอเหมาะ และไม่ควรปล่อยให้กิ่งซ้อนกันมาก จนเก็บผลผลิตไม่สะดวก
ลองกอง ช่วงที่ออกผลผลิต ควรแต่งช่อดอกและแต่งลูกในช่อเมื่อลูกมีขนาดเท่าเมล็ดถั่วเขียว ถ้าช่อไหนติดแน่นเกินไป ให้รูดลูกที่มีขนาดเล็กกว่าทิ้งไป
เมื่อเก็บผลผลิตแล้วก็ให้ตัดแต่งกิ่งเพื่อคุมความสูง และควบคุมทรงพุ่มเพื่อจัดแสง ให้ลงมากิ่งข้างล่าง เพราะถ้ามีแสงส่องลงมา กิ่งล่างจะไม่ทิ้ง และจะออกลูกถึงข้างล่าง
-การใส่ปุ๋ย หลังตัดแต่งแล้วจะใส่ปุ๋ยโดยนำหินบดฟอสเฟต 1 กิโลกรัม กองไว้ด้านล่างสุด ใส่ขี้ไก่ประมาณ 1 ถุง นำละอองข้าว หรือฝุ่นที่อยู่ในโรงสีมาโรยทับ นำน้ำหมักชีวภาพราดทับ หมักทิ้งไว้ 1 เดือน แล้วตัดหญ้ามากลบกองปุ๋ยไว้ โดยแต่ละต้นให้วางกองปุ๋ยไว้ประมาณ 2-3 จุด ห่างจากต้นประมาณชายทรงพุ่ม หรือบริเวณปลายรากพอดี
ในช่วงแรกปุ๋ยจะมีความร้อนสูง เพราะยังไม่เกิดการหมักที่สมบูรณ์ ดังนั้นหญ้าหรือพืชจะยังไม่สามารถดูดสารอาหารจากปุ๋ยไปได้ หลังจากผ่าน 1 เดือนไปแล้ว จุลินทรีย์จะค่อยๆ ย่อยสลาย เมื่อตัดหญ้าที่อยู่รอบๆ ต้นไม้มาใส่ทับกองปุ๋ย ก็จะไม่มีหญ้ามาแย่งอาหารแล้ว
-การกระตุ้นตาดอก กระตุ้นตาดอกด้วยสาหร่ายธรรมชาติ โดยฉีดตอนที่อากาศเริ่มหนาวติดๆ กัน และมังคุดเริ่มติดยอดแดงๆ
-การจัดการโรคแมลง สำหรับมังคุดจะมีเพลี้ยไฟมากัด ทำให้ผิวเปลือกหยาบ ไม่สวย และเป็นยางไหลใน แต่ที่นี่จะปล่อยให้ตัวห้ำตัวเบียนในธรรมชาติจัดการกันเอง
ส่วนทุเรียน มีหนอนใต้ที่เจาะเปลือกทุเรียนเข้าไปกินเม็ดในทุเรียน ช่วงที่ทุเรียนใกล้ตัดจะบินออกมาผสมพันธุ์ เป็นตัวดักแด้ใต้โคนต้น วิธีป้องกันไม่ให้หนอนใต้ระบาดคือ การปลูกต้นทุเรียนให้ห่างกัน เมื่อหนอนใต้หาคู่ผสมพันธุ์ไม่ได้ก็จะตายไปเอง และการที่ไม่ใช้สารเคมีจะทำให้เปลือกทุเรียนแข็งกว่า แมลงเจาะเข้าทำลายได้ยากกว่า
ข้อมูลจาก วารสารเกษตรกรรมธรรมชาติ ฉบับที่ 4/2558 “จุลินทรีย์เบญจคุณ สุดยอดจุลินทรีย์ 5 ใน 1 พลังฟื้นคืนชีวิตให้ผืนดิน”
สั่งซื้อ ฉบับที่ 4/2558
25 ก.ค. 2562
25 ก.ค. 2562