เล่าสู่กันฟังฉบับที่ 12/2558

Last updated: 1 ก.ค. 2562  |  941 จำนวนผู้เข้าชม  | 

เล่าสู่กันฟังฉบับที่ 12/2558

เล่าสู่กันฟังฉบับที่ 12/2558

เล่าสู่กันฟัง /คมสัน หุตะแพทย์
ทำเกษตรสร้างสรรค์ ด้วย ภูมิปัญญาพื้นบ้าน

การทำเกษตรในยุคต่อไปเป็นเรื่องที่ทำได้ไม่ง่ายเหมือนสมัยก่อน เนื่องจากต้องทำภายใต้ข้อจำกัดมากมาย เช่น พื้นที่ที่น้อยลง ทรัพยากรที่ไม่อุดมสมบูรณ์ เช่น น้ำแล้ง ภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง อากาศที่ร้อนขึ้น เป็นต้น ผลักดันให้คนที่ทำเกษตร ต้องค้นหาวิธีการ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ในการเพิ่มผลผลิตภายใต้เงื่อนไขที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ทำให้มีการกล่าวถึง แนวทางการทำเกษตรอย่างสร้างสรรค์ หรือ Smart Farmer ซึ่งในทิศทางหนึ่งที่กำลังทำกันอยู่ โดยเฉพาะหน่วยงานราชการและสถาบันการศึกษา ก็คือการใช้ความรู้ เทคโนโลยี และเครื่องมือสมัยใหม่ แต่ผมพบว่า เกษตรกรไทยที่ปรับตัวอยู่ได้ และประสบความสำเร็จในการทำเกษตรในสภาวะปัจจุบันส่วนใหญ่ใช้ภูมิปัญญาและความรู้แบบพื้นบ้านของบรรพบุรุษในอดีต ที่ใช้วิธีสังเกต และทำความเข้าใจธรรมชาติ แล้วนำมาปรับประยุกต์ใช้ ด้วยเทคโนโลยีอย่างง่ายๆ ที่เหมาะสม ลองผิดลองถูกจนสำเร็จ บางครั้งก็มีคำอธิบายทางวิทยาศาสตร์ บางครั้งก็ไม่มี แต่ใช้การได้ดี ดังเกษตรกรหลายรายที่ได้สร้างสรรค์นวัตกรรมการเกษตรใหม่ๆ จนประสบความสำเร็จทั้งในเชิงรายได้และชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับให้เป็นผู้รู้ทางการเกษตร แต่หากสืบค้นลงไปถึงต้นตอของนวัตกรรมสร้างสรรค์เหล่านั้น หลายต่อหลายครั้งพบว่า ได้ต่อยอดมาจากภูมิปัญญาและความรู้ของพ่อแม่ปู่ย่าตายายที่ได้พัฒนาสืบต่อกันมา แต่ได้ถูกละเลยไปในสมัยเกษตรเคมีเฟื่องฟู

หากเราได้กลับไปย้อนอ่านตำรับตำราหรือหนังสือการเกษตรสมัยเก่าๆ เช่น นสพ.กสิกร ในยุคก่อน เราจะค้นพบว่า ความรู้ทางการเกษตรที่เผยแพร่ในสมัยนั้นหลายต่อหลายอย่าง ได้ถูกนำมาทำซ้ำต่อยอด หรือพัฒนา จนกลายมาเป็นนวัตกรรม หรือเกษตรในแนวสร้างสรรค์ในสมัยนี้ เช่นเดียวกับความรู้ในตำราของครูทางการเกษตรในสมัยก่อนที่เคยเขียนหรือเคยสอนเมื่อ 30-40 ปีก่อนได้กลายมาเป็นวิธีการเกษตรที่ทำให้คนสมัยนี้อะเมซิ่ง และนำไปใช้กันอย่างแพร่หลาย ตัวอย่างเช่น ในหนังสือ “การปลูกพืชผักสวนครัวแบบประหยัดเนื้อที่” ของอาจารย์สุนทร ปุณโณทก บรมครูทางการเกษตรที่ผมนับถือท่านหนึ่ง ท่านได้เขียนหนังสือเล่มนี้ไว้ตั้งแต่ ปี พ.ศ.2520 หลายเรื่องที่ท่านได้เขียนหรือถ่ายทอดไว้เมื่อ 40 ปีก่อน ได้ถูกนำมาต่อยอด และนำไปปฏิบัติ กันอย่างกว้างขวาง เช่น การปลูกกล้วยให้ปลีออกทางเดียวกัน หรือการปลูกกล้วยให้ปลีหรือเครือออกกลางต้น ท่านก็ได้เขียนไว้ เมื่อ 40 ปีก่อน ที่ได้กลับมาฮือฮาเมื่อ 4-5 ปีมานี้ หรืออย่างเรื่องที่น่าจะเข้ายุคเข้าสมัยกับสถานการณ์ในปัจจุบัน เช่น การเพาะเห็ดแบบประหยัดเนื้อที่ การปลูกข่าให้ได้หน่ออ่อนตลอดเวลา การปลูกกล้วยน้ำว้าให้ออกผลเป็นกล้วยไข่ เป็นต้น ท่านอาจารย์ สุนทร ปุณโณทก เขียนหนังสือเกี่ยวกับการเกษตรไว้อีกหลายเล่ม ซึ่งผมได้พยายามสะสมไว้เท่าที่จะเสาะหามาได้ ทำให้เห็นว่า ท่านมีภูมิปัญญาความรู้ทางการเกษตรอีกมากมายที่หลายเรื่องน่าจะนำมาปรับประยุกต์ใช้เป็นเกษตรสร้างสรรค์ในปัจจุบันได้ อย่างเรื่องที่ฮิตมากๆ ในปีที่ผ่านมานี้ และน่าจะฮิตไปถึงปีหน้าคือเรื่อง การปลูกมะนาวให้ออกผลในฤดูแล้ง นี่ท่านก็ได้เขียนไว้นานแล้ว เช่นเดียวกัน ท่านได้เขียนไว้ว่า “มะนาวในฤดูแล้ง นอกจากจะไม่ค่อยมีน้ำแล้ว ยังไม่ค่อยออกดอกออกผลอีกด้วย ราคาจึงแพงกว่าในฤดูฝน" จึงเห็นว่า "มะนาวถูกในฤดูฝน มะนาวแพงในฤดูแล้ง” เป็นเรื่องที่เป็นมานานแล้วสำหรับเมืองไทย ที่ว่าแพงสมัย นั้นคือลูกละ หกสลึง ถึงสองบาท ท่านจึงเขียนวิธีการทำให้มะนาวออกผลในฤดูแล้งด้วยวิธีการง่ายๆ ด้วยการเข้าใจธรรมชาติของมะนาวหรือพืชตระกูลส้มอื่นๆ ว่า “มะนาวเป็นพืชตระกูลส้ม ชอบดินปนทราย (ดินโสก) เวลาที่ออกดอกต้องการน้ำในดินน้อย ใบบนต้นไม่มากนัก ถ้าให้น้ำให้ปุ๋ยตลอดเวลา บำรุงให้ต้นงามใบงามอยู่เสมอ จะไม่ให้ดอกผล ระยะที่ต้องการให้ออกดอก ต้องงดการให้น้ำใส่ขี้เถ้าไม้หรือขี้เถ้าแกลบแทนปุ๋ย ตอนเย็นๆ เผาขยะใบไม้แห้งและสด ปล่อยให้ควันสุมต้น วันละครั้งตอนเย็นๆ ราว 2 สัปดาห์ เพื่อให้ใบร่วงลงบ้าง หลังจากที่ใบร่วงแล้ว จะเห็นดอกโผล่ตามออกมามากมาย จากนั้นค่อยๆ ให้น้ำเข้าโคนต้น จะให้ปุ๋ยคอกเก่าๆ บ้างก็ได้ ทำเช่นนี้จะได้ผลมะนาวไว้ใช้ตลอดปี”

คนไทยเป็นคนที่ทำเกษตรเก่งมากที่สุดชาติหนึ่ง อาศัยภูมิประเทศที่เอื้ออำนวยอย่างเดียว คงไม่ได้ทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกพืชผลทางการเกษตรอันดับต้นๆ ของโลก แต่น่าเสียดายที่ภูมิปัญญาความรู้ทางการเกษตรของไทยในอดีต ไม่ถูกบันทึกเก็บรวบรวมอย่างครบถ้วนและเป็นระบบ จึงเหลืออยู่ในรูปของเอกสารไม่มากนัก แต่เท่าที่มีอยู่ก็ขออย่าได้ดูถูกและมองข้าม เพราะอาจเป็นทางออกที่ทำได้ง่าย ในความยากลำบากที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้